เผยแพร่ใน Tips ซื้อ-ขาย-เช่า อสังหาฯ

6 วิธี ผ่อนบ้านหมดไวแบบไม่ชนเดือน!

วันที่เผยแพร่: 21 ต.ค. 2024 เวลา 7:16

6 วิธี ผ่อนบ้านหมดไวแบบไม่ชนเดือน!

หนึ่งในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อไตร่ตรองนานมาก คือการตัดสินใจเพื่อ ‘ซื้อบ้าน’ เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่จะตามมาคือภาระหนี้สินที่ต้องใช้เวลาในการผ่อนนาน และไม่ใช่ว่าใครก็สามารถผ่อนบ้านหมดจบไวได้ง่าย ๆ ดังนั้นจึงต้องวางแผนทางการเงินให้ดี เพื่อให้การผ่อนบ้านไม่เป็นภาระนานจนเกินไป และสามารถโปะหนี้ครั้งนี้ให้จบไวที่สุด

การผ่อนบ้านให้หมดไว ใจความหลัก ๆ คือการวางแผนทางการเงินที่ดี และการจัดการเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้น ซึ่ง Nestopa ได้รวบรวมวิธีการผ่อนบ้านหมดไวแบบไม่เครียด ถ้าหากวางแผนเป็นมาให้แล้วด้วยกันถึง 6 หัวข้อ

1. ตรวจสอบตนเอง

ขั้นตอนแรกคือการเช็คความพร้อมที่จะกู้สินเชื่อผ่อนบ้าน เพื่อวางแผนควบคุมไม่ให้เราผ่อนบ้านเกินกำลังตนเอง เพราะบ้านเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมาก การเกิดปัญหาผ่อนไม่ไหวในอนาคต โดยควรเช็คฐานเงินเดือน เงินที่สามารถผ่อนต่อเดือนได้ วงเงินสินเชื่อที่กู้ได้ ภาระหนี้สินในปัจจุบัน เงินสำรอง หรือเงินออมสักก้อนที่สามารถนำไปโปะบ้านเมื่อเกิดปัญหาทางการเงินในขณะนั้น ๆ เป็นต้น

2. ผ่อนเกินขั้นต่ำเมื่อมีโอกาส

การผ่อนบ้านในแต่ละครั้ง จะประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งขั้นต่ำที่ผ่อนไปแต่ละเดือนจะนำไปทบที่ดอกเบี้ยก่อน และหากจ่ายเกินขั้นต่ำ เงินส่วนเกินในแต่ละครั้งจะนำไปหักที่เงินต้น ดังนั้น นอกจากจะช่วยร่นระยะเวลาแล้ว ดอกเบี้ยจากเงินต้นก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน ต้องวางแผนผ่อนเกินกำหนดให้ดีโดยไม่เป็นภาระมากเกินไป และไม่จำเป็นต้องผ่อนเกินในจำนวนเดิมทุกครั้ง เช่น หากช่วงไหนเงินในมือติดขัด สามารถผ่อนเกินกำหนดสัก 10-20% ได้

ยกตัวอย่างเช่น: ราคาบ้านอยู่ที่ 3,000,000 บาท ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% ผ่อนชำระ 30 ปี (360 งวด) เป็นเงินรวม 5,800,000 บาท ผ่อนเดือนละประมาณ 16,000 บาท โดยหากผ่อนทบเงินขั้นต่ำจาก 16,000 เป็น 30,000 อาจจะลดดอกเบี้ยและเงินต้นโดยรวมเหลือ 3,900,000 บาท และระยะเวลาจาก 30 ปี อาจเหลือประมาณ 10-11 ปี

3. จ่ายเพิ่มสักงวด

ในที่นี้หมายถึงการวางแผนจ่ายเพิ่มงวดนึงในหนึ่งปี อธิบายได้ว่า จากปกติที่ใน 1 ปี มี 12 งวด อาจจะจ่ายเพิ่ม 1 งวด เท่ากับ 1 ปี จะจ่ายรวม 13 งวด เป็นการโปะที่จะช่วยร่นระยะเวลาให้หมดไวขึ้น หลักการจะคล้าย ๆ กับผ่อนเกินขั้นต่ำ เพราะงวดที่ 13 นี้จะช่วยลดต้นลดดอกได้มากเช่นกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่จ่ายเกินขั้นต่ำทุกเดือนก็ได้ เช่น ปกติจ่ายเกินขั้นต่ำอยู่แล้วที่ 30,000 บาท งวดที่ 13 อาจจะจ่าย 16,000 บาท ที่เป็นขั้นต่ำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนที่เยอะ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดสนทางการเงินมากเกินไป แต่ถ้าหากมีกำลังสามารถจ่ายไหว แนะนำให้จ่ายทบไปเยอะ ๆ จะดีกว่า

4. ทบเงินก้อนช่วงดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากการวางแผนทางการเงิน การมองหาจุดที่จะเป็นโอกาสช่วยก็สำคัญเช่นกัน โดยส่วนมากในช่วง 3 ปีแรกของการผ่อนบ้านนั้นเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการจ่ายเงินก้อนทบไปเยอะ ๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่การปรับดอกเบี้ยรวมทบต้นที่แพงขึ้นในภายหลังสร้างปัญหามากเกินไปจนผ่อนต่อไม่ไหว และเงินก้อนที่โปะทบไปจะถูกนำไปลดเงินต้นโดยตรง ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่คำนวณจากเงินต้นลดลงตามไปด้วยมากขึ้น

*การโปะงวดเพิ่มและการโปะเงินก้อนมีหลักคล้ายกันคือการจ่ายเพิ่มเพื่อลดเงินต้นโดยตรง เช่น จ่ายขั้นต่ำ/จ่ายเกินขั้นต่ำไปก่อนช่วงก่อนวันตัดยอด และวันตัดยอดจ่ายเพิ่มในจำนวนเงินที่ไหว ในที่นี้ยกตัวอย่าง 16,000 บาท เงินส่วน 16,000 บาท จะไปลดเงินต้นโดยตรง ส่วนจ่ายเงินก้อน อาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่กว่าปกติก็ได้ เช่น ได้รับโบนัสมาจึงจ่ายเงินโบนัส 200,000 บาท โปะทบไป เพื่อลดเงินต้น และจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จะจ่ายโปะเป็นก้อน ๆ หรือจะจ่ายเพิ่มงวดก็ได้ ต้องวางแผนเท่าที่การเงินตนเองจะไหว และหากให้แนะนำ ควรรีบโปะให้หมดภายในปีแรก ๆ อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ส่งผลดีในภายหลังที่เมื่อทบดอกเบี้ยสูงแล้ว เงินที่ต้องผ่อนอาจจะไม่สูงมาก เงินต้นลดลงไว ร่นระยะเวลาผ่อนได้เยอะ

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม 
กู้บ้านผ่านเร็ว เพียงรู้วิธีใช้บัตรเครดิต
สูตรคำนวนเงินเดือน ในการผ่อนบ้านตามฐานเงินเดือน
ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้าน

5. ปรับโครงสร้างเพื่อลดดอกเบี้ย

นอกจากวางแผนลดเงินต้นเพื่อลดดอกเบี้ยแล้ว การวางแผนลดดอกเบี้ยจริง ๆ ก็สำคัญ เพราะดอกเบี้ย MRR หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวหลังผ่านช่วง 3 ปีแรกที่ถูกปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาหลายส่วน บางครั้งเงินที่จ่ายไปอาจจะถูกนำไปหักดอกเบี้ยแทนที่จะเป็นเงินต้นเหมือนอย่างเดิม ดังนั้น การเรียนรู้วิธีและวางแผนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งมี 2 แบบด้วยกัน คือ

  • การรีไฟแนนซ์ (Refinance): วิธีนี้คือการย้ายหนี้ผ่อนชำระของธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง ซึ่งเสนออัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำกว่า
  • การรีเทนชั่น (Retention): วิธีนี้คือการลดอัตราดอกเบี้ยในธนาคารเดิม ไม่ได้ย้ายไปไหน ซึ่งจะเป็นวิธีที่ยุ่งยากน้อยกว่าหากคุณมีประวัติในการผ่อนบ้านดีมาโดยตลอด

ทั้งสองวิธีมีข้อดีเหมือนกัน คือการปรับโครงสร้างเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย ให้ผ่อนได้ง่ายขึ้นและร่นระยะเวลาได้เยอะขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีมากกว่า แต่! หากคุณปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ธนาคารกำหนดแล้ว คุณอาจจะต้องเสียค่าปรับในราคาสูง ดังนั้น ควรอ่านสัญญาให้ดีและนับเวลาให้แน่นอนว่าครบ 3 ปีหรือยัง

6. ไม่สร้างภาระหนี้สินอื่นเพิ่ม

การผ่อนบ้านต้องวางแผนให้ดี ต้องแน่ใจว่าระหว่างที่ผ่อนบ้านจะไม่มีหนี้สินในด้านอื่น ๆ มากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการจ่ายเงินผ่อนบ้าน เช่น เงินหมุนไม่ทัน หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินขัดสน เป็นต้น ดังนั้น หากจะผ่อนสินค้าหรือสร้างหนี้ใด ๆ เพิ่ม จะต้องวางแผนทางการเงินให้รัดกุมและดียิ่งกว่าปกติ แน่นอนว่าไม่สามารถผ่อนบ้านมูลค่าสูงให้หมดในเร็ววันได้ แต่วินัยจะเป็นตัวช่วยให้คุณไม่ผ่านวันเวลาไปอย่างยากลำบากนั่นเอง

การผ่อนบ้านเป็นหนึ่งในบททดสอบที่ยาก หากวางแผนไม่ดี ผ่อนบ้านไม่ไหว จะส่งผลเสียได้ ทั้งเครดิตทางการเงินที่เสียไปแล้ว บ้านโดยยึดจนไม่ได้อยู่ ใด ๆ ก็ตาม จึงเป็นเหตุผลที่ควรจะเช็คสมรรถภาพทางการเงินของตนเองให้ดี ให้ผ่อนได้ไม่เดือนร้อนเกินไป ทั้งยังต้องวางแผนทางการเงินเพื่อลดเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย และลดระยะเวลาการผ่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระในอนาคต ผ่อนบ้านให้หมดในเร็ววันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากวางแผนดีก็มีสิทธิเป็นไปได้เช่นกัน การมีวินัย และคอยมองหาโอกาสหรือตัวช่วยใด ๆ จึงสำคัญมาก

ค้นหาบ้านน่าอยู่ได้แล้วที่นี่ คลิก

Source : ธอส., แสนสิริ

Piraon
Piraon Sangkhaosud ผู้เขียน

Hello, Peach is here. For a long time, I have had an interest in writing and I aim to create special content for my readers. I hope you enjoy Nestopa's Blog and my articles.

ซื้อบ้าน กู้เงินซื้อบ้าน กู้ซื้อบ้าน อสังหาฯ อสังหาริมทรัพย์ Tips ซื้อ-ขาย-เช่า อสังหาฯ ผ่อนบ้าน
Nestopa

ติดตามข่าวสาร

มุ่งมั่นในการพัฒนาสตาร์ทอัพไทย

ลงทะเบียนโดยกรมการพัฒนาธุรกิจการค้าประเทศไทย
สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน