เผยแพร่ใน Tips ซื้อ-ขาย-เช่า อสังหาฯ

มัดรวมข้อควรรู้ ให้การโอนกรรมสิทธิ์บ้านเป็นเรื่องง่าย!

วันที่เผยแพร่: 26 ก.ย. 2024 เวลา 7:32

มัดรวมข้อควรรู้ ให้การโอนกรรมสิทธิ์บ้านเป็นเรื่องง่าย!

หลายคนที่กำลังจะโอนบ้านหรืออยากโอนบ้านจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านเอกสารอย่างมาก เพื่อลดความยุ่งยากในการแก้ไขข้อผิดพลาด ยิ่งเอกสารสำคัญด้วยแล้ว บอกเลยว่าจุดนี้จะพลาดไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้นวันนี้เนสโทปาจึงรวบรวมเอกสารที่จะต้องเตรียม ทั้งยังเสนอแนะวิธีคำนวณค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เหล่าผู้กำลังจะมีบ้าน มีคอนโดใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมในการจะแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนต่างนอกจากค่าบ้านเพิ่มเติมอีกด้วย และจากการที่กรมที่ดินเปิดตัวแอปพลิเคชันจองคิวไปล่าสุด เราก็ได้รวบรวบวิธีการลงทะเบียนจองคิวฉบับง่าย ๆ เข้าใจได้แน่นอนมาให้ถึงที่ ให้การโอนกรรมสิทธิ์บ้านเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

เอกสารที่ต้องเตรียมเมื่ออยากโอนที่ดิน

กรณีบุคคลธรรมดา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

เอกสารสำหรับผู้ซื้อ
1. บัตรประชาชน สำเนาบัตรประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้าน
3. หนังสือเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล พร้อมสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
4. กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ได้รับมอบอำนาจ

เอกสารสำหรับผู้ขาย
1. โฉนดที่ดิน
2. บัตรประชาชน สำเนาบัตรประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนบ้าน
3. หนังสือเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล พร้อมสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
4. *กรณีมีคู่สมรส* ต้องเตรียมทะเบียนสมรสพร้อมสำเนา หนังสือยินยอมให้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน และหากหย่าแล้ว ต้องมีทะเบียนหย่าพร้อมสำเนาด้วยเช่นกัน
5. กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ได้รับมอบอำนาจ

กรณีห้างหุ้นส่วนและบริษัท

1. โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
3. หนังสือบริคณห์สนธิ และวัตถุประสงค์
4. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด
5. แบบรับรองรายการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว
6. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และตัวอย่างลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคล
7. รายงานการประชุมนิติบุคคล

ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน

จากล่าสุดที่ครม.มีมติออกมาว่าให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและค่าจดจำนองเพื่อกระตุ้นให้เกิดปริมาณการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ได้ความดังนี้ว่า
1. ค่าธรรมเนียมการโอน 0.01%
ราคาประเมิน 1,000,000 ราคาขาย 1,500,000 ให้ใช้ราคาที่สูงที่สุด คือ 1,500,000 x 0.01% เท่ากับเสียค่าธรรมเนียมการโอน 150 บาท
***ราคาประเมินทุนทรัพย์และราคาซื้อขาย จะต้องไม่เกิน 7,000,000 บาท หากเกินให้คิดค่าธรรมเนียมเป็น 2%
2. ค่าจดจำนอง 0.01%
มูลค่าสินเชื่อ หรือ มูลค่าจดจำนอง 1,500,000 คือ 1,500,000 x 0.01% เท่ากับเสียค่าจดจำนอง 150 บาท
***ต้องโอนและจดจำนองในครั้งเดียวกันถึงจะได้ลดค่าจดจำนอง
***หากราคาซื้อขายเกิน 3,000,000 บาท ให้คิดค่าจดจำนองเป็น 1%
3. ค่าอากร 0.5% ของราคาขาย
ราคาประเมิน 1,000,000 ราคาขาย 1,500,000 ให้ใช้ราคาที่สูงที่สุด คือ 0.5% x 1,500,000 เท่ากับเสียค่าอากรแสตมป์ 7,500 บาท
***หากเสียค่าอากรแสตมป์แล้ว ไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
4. ค่าภาษี ธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาขาย
ราคาประเมิน 1,000,000 ราคาขาย 1,500,000 ให้ใช้ราคาที่สูงที่สุด คือ 3.3% x 1,500,000 เท่ากับเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 49,500 บาท
***ถือครองอสังหาฯ เกิน 5 ปี หรือมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ไม่ต้องชำระ ให้จ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
***หากเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์
4. ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดจากราคาประเมิน/ซื้อขายอสังหาฯ ที่มาของอสังหาฯและจำนวนปีที่ถือครองตามหลักเกณฑ์ของกรมที่ดิน
5. ค่าคำขอ 20บาท
6. ค่าอากร 5 บาท
7. ค่าพยาน 20 บาท

ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ณ สำนักงานกรมที่ดิน

1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่สำนักงานกรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบเอกสารและรับบัตรคิว
2. ลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถูกเรียก
3. เจ้าหน้าที่จะประเมินราคาทรัพย์สินและคำนวณค่าธรรมเนียมการโอน และนำใบคำนวณค่าธรรมเนียมไปชำระที่ฝ่ายการเงิน
4. ชำระเงินค่าธรรมเนียมและภาษีแล้วจะได้ใบเสร็จใบสีฟ้ากับสีเหลือง ให้นำสีเหลืองคืนเจ้าหน้าที่ ส่วนสีฟ้าให้ถ่ายสำเนาให้ผู้ซื้ออีก 1ชุด
5. เจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บันทึกข้อมูลโดยพิมพ์สลักหลังโฉนด เมื่อตรวจสอบแล้ว จึงมอบโฉนดและสัญญาซื้อขาย(ทด.13)ให้แก่ผู้รับโอนหรือผู้ซื้อ
***หลังจากนั้นให้ทำเรื่องโอนค่าใช้จ่ายของ ค่ามิเตอร์น้ำ ค่ามิเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย

โอนกรรมสิทธิ์บ้านง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล!

กรมที่ดินเปิดให้โอนกรรมสิทธิ์บ้านออนไลน์แล้วในปีนี้ โดยเปิดให้โอนได้ทั้งหมด 20 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ บึงกาฬ อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่ สงขลา สิงห์บุรี ขอนแก่น เพชรบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และนครนราชสีมา

ขั้นตอนการจองคิวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออนไลน์

1. ดาวโหลดน์แอป e-QLands ลงทะเบียนและเริ่มขั้นตอนการจองคิวจดทะเบียน 
2. กรองข้อมูลเลือกประเภทคำขอ ประเภทเอกสาร เช่น โฉนดที่ดิน เป็นต้น หลังจากนั้นกรอกเอกสารสิทธิ์ แนบรูปถ่ายเอกสาร และแนบเอกสารผู้ซื้อและผู้ขาย
3. เลือกวันจองคิว
4. ตรวจสอบข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไปทั้งหมด หากมีข้อมูลผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ เมื่อถูกต้องครบถ้วนจึงกดบันทึกการจองคิวได้เลย
5. หลังจากนั้น ยื่นหลักฐานการจองออนไลน์เมื่อถึงวันนัดโดยไม่ต้องรอคิวที่สำนักงานเพื่อลงทะเบียนอีกต่อไป

ปัจจุบันมีนโยบายเพื่อสนับสนุนการซื้อบ้านของคนไทยมากขึ้น ลดความลำบากในการรอคิว ลดยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ลงไปได้มาก เพราะนอกจากมูลค่าของบ้าน อสังหาฯ ที่เราต้องแบกรับแล้ว ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่ใช่น้อยเลย ไหนจะต้นทุนด้านเวลาที่เราต้องเดินทางไปสำนักงานทั้งยังต้องรอคิวที่ไม่รู้ว่ากี่นาที ดังนั้น หากสามารถเตรียมความพร้อมทางด้านเอกสาร เงิน และการจองคิวไปได้แล้วก็นับว่าเรื่องอื่น ๆ ไม่ยุ่งยากแน่นอน

Source : สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, Money Buffalo

Piraon
Piraon Sangkhaosud ผู้เขียน

Hello, Peach is here. For a long time, I have had an interest in writing and I aim to create special content for my readers. I hope you enjoy Nestopa's Blog and my articles.

สัญญาจะซื้อจะขาย ซื้อบ้าน อสังหาฯ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน โอนบ้าน e-QLands ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน
Nestopa

ติดตามข่าวสาร

มุ่งมั่นในการพัฒนาสตาร์ทอัพไทย

ลงทะเบียนโดยกรมการพัฒนาธุรกิจการค้าประเทศไทย
สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน